วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Virtualization

ความหมายของ Virtualization
เทคโนโลยี Virtualization เป็นเทคโนโลยีที่สามารถทำให้เครื่องแม่ข่าย (Server) หนึ่งเครื่อง สามารถมีระบบปฎิบัติการ (Operating System : OS) หรือระบบเสมือน (Virtual System) อยู่ภายในได้มากกว่าหนึ่งระบบ โดยมีวิธีการสร้างชั้น (Layer) ของการเชื่อมต่อระหว่างฮาร์ดแวร์กับระบบปฎิบัติการขึ้นมา ซึ่งเรียกว่า Hypervisor หรือ Virtual Machine Monitor (VMM) เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการให้ระบบปฎิบัติการหลายๆ ตัวในเครื่องสามารถใช้งานทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น CPU, Memory หรือ Hard disk ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากความสามารถในการที่ทำให้ระบบปฎิบัติการหลายๆ ระบบสามารถทำงานบนเครื่องแม่ข่ายเพียงเครื่องเดียวได้ของเทคโนโลยี Virtualization ทำให้สามารถช่วยในการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องแม่ข่าย และช่วยให้สามารถใช้งานเครื่องแม่ข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการระบบที่ดีขึ้นด้วย
ความเป็นมาของ Virtualization

ในโลกธุรกิจในทุกวันนี้ระบบ IT มุ่งเน้นไปทางด้านการประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดพลังงาน และเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับระบบ IT มากขึ้น ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจหรือเพื่อเพิ่มผลกำไรในด้านบัญชีให้กับบริษัทก็ตาม วิธีหนึ่งที่นิยมมากในหลายๆ องค์กรชั้นนำในปัจจุบันที่ทำให้ระบบมีเสถียรภาพ ประหยัดพลังงาน ใช้ฮาร์ดแวร์ได้อย่างคุ้มค่าและเต็มประสิทธิภาพ  คือ การทำระบบให้อยู่ในโลกแบบเสมือน หรือ Virtualization นั่นเอง ซึ่งการนำระบบเข้าสู่การเป็น Virtualization นั้นในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ง่ายและราคาไม่แพงอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต นอกจากนี้กระแสของการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม (“Green IT”) เพื่อเป็นการดูแลสภาพแวดล้อมให้ยั่งยืน ยังมีส่วนในการผลักดันให้หลายองค์กรหันมาให้ความสนใจกับแนวคิด Virtualization Technology อย่างจริงจังกันมากขึ้น
ในอดีตการทำ Virtualization ในระดับองค์กรนั้น นิยมใช้การเพิ่มหน่วยบริการลงในเครื่องเซิร์ฟเวอร์นั้นๆ เพื่อเสริมหรือเพิ่มการให้บริการต่างๆ ในองค์กร แต่จากการที่ความต้องการในการใช้บริการของเซิร์ฟเวอร์ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เซิร์ฟเวอร์เพียงหนึ่งเครื่องนั้นไม่เพียงพอ และยังมีปัญหาด้านความไม่มีเสถียรภาพของระบบที่ใช้งาน เนื่องจากเซิร์ฟเวอร์นั้นๆ ต้องดูแลการบริการหลากหลายประเภท และหากเกิดปัญหาขึ้นกับบริการใดบริการหนึ่ง จะทำให้ไม่สามารถใช้บริการอื่นได้ด้วย หลายๆ องค์กรจึงหันมาใช้รูปแบบที่มีความปลอดภัยกว่า โดยใช้เครื่องเซิร์ฟเวอร์หนึ่งเครื่อง เพื่อการบริการเพียงหนึ่งรูปแบบ ซึ่งวิธีการนี้สามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือของระบบโดยรวม อีกทั้งยังง่ายต่อการจัดการแก้ไขหรือตรวจเช็คระบบ และระบบอื่นๆ จะยังคงดำเนินต่อไปได้ หากบริการใดบริการหนึ่งประสบปัญหา แต่วิธีการนี้อาจจะทำให้การใช้งานเครื่องเซิร์ฟเวอร์ไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร เพราะเซิร์ฟเวอร์ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้งานเต็มประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา และอาจมีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น ต้องทำการสำรองเครื่องจ่ายไฟเยอะขึ้น, ขนาดของห้องศูนย์ข้อมูล (Data Center) อาจจะไม่เพียงพอในอนาคต และขนาดของเครื่องปรับอากาศที่ต้องมีอัตราการระบายความร้อนที่มากเกินความเป็นจริง เป็นต้น
การทำ Virtualization จึงมีประโยชน์ และสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ อีกทั้งยังเป็นการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการลดจำนวนของเครื่องเซิฟเวอร์และระบบระบายอากาศ  ลดการทิ้งขยะเป็นพิษ เนื่องมาจากอุปกรณ์ IT และสุดท้ายลดขนาดพื้นที่ในการจัดเก็บอุปกรณ์ให้เล็กลง
โดยเทคโนโลยี Virtualization นั้น มีการใช้งานมาตั้งแต่ในยุคปี 1996 แต่ยังใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและเป็นการใช้งานอยู่ในกลุ่มของเครื่อง Mainframe และในเครื่องที่เป็นระบบ UNIX ซึ่งเป็นระบบขนาดใหญ่และมีราคาแพง ทำให้ไม่เป็นที่แพร่หลายมาก แต่ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ผู้ผลิตต่างก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนา Hardware และ Software ที่ทำงานร่วมกับเทคโนโลยี Virtualization ได้ ทำให้การทำงานแบบ Virtualization มีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีราคาที่ถูกลง ทำให้เทคโนโลยี Virtualization ถูกนำกลับมาใช้งานใหม่อีกครั้งในปัจจุบัน และด้วยคุณสมบัติและประโยชน์ของเทคโนโลยี Virtualization ส่งผลให้ Virtualization เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจและส่งผลกระทบต่อกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มในปัจจุบัน โดยแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มผู้ผลิต อันประกอบด้วย ผู้ผลิตเครืองมือเพื่อใช้ทำ Virtualization (Virtualization Tools Maker) ผู้ผลิตหน่วยประมวลผล (CPU Maker) ผู้ผลิตเครื่องแม่ข่าย (Server Maker) และกลุ่มผู้บริโภค อันประกอบด้วย องค์กรทางธุรกิจ (Business Enterprise) ผู้ใช้งานทั่วไป (User) ซึ่งในแต่ละกลุ่มนั้นจะได้รับผลกระทบจากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป

รูปแบบของ Virtualization Technology สามารถแบ่งออกไปตามชนิดของทรัพยากรได้ดังนี้ 
- Platform virtualization หรือ การแบ่งระบบปฏิบัติการแยกออกจากทรัพยากรของระบบ เพื่อให้สามารถรองรับหลายๆ ระบบปฏิบัติการได้โดยแบ่งทรัพยากรของระบบร่วมกัน เช่น ระบบ VMware, Hyper-V, Citrix XenServer
·       - Server Virtualization เป็นการสร้างเซิฟเวอร์เสมือนขึ้นมา เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรทางการคำนวณสูงสุด
- Encapsulation เป็นการปิดบังความซับซ้อนของทรัพยากรโดยการสร้าง interface ที่สามารถใช้งานได้ง่ายแทน เช่น GRE protocol
- Virtual memory เป็นการรวมกันของการอ้าง addressing ของทรัพยากรที่ต่างกันในทางกายภาพ ทั้งในหน่วยความจำ และ disk ให้เปรียบเสมือนเป็นหน่วยเดียวกันที่ต่อเนื่อง
- Storage virtualization เป็นกระบวนการของการแทนที่พื้นที่จัดเก็บข้อมูลในแบบกายภาพ (physical storage) ด้วยพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเสมือน (logical storage) โดยการจัดสรรส่วนเก็บข้อมูลเป็นส่วนย่อยๆ หลายส่วน ทำให้ใช้งานได้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น เช่น ในกรณีของบริษัทซิสโก้ที่ทำการรวมสตอเรจ (Consolidate) แล้วทำ Virtualization ซึ่งสามารถประหยัดรายจ่ายในการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์มากถึงปีละหลายสิบล้านเหรียญสหรัฐ
- Network virtualization เป็นการสร้างระบบการอ้าง address ของเครือข่ายแบบจำลอง หรือแบบเสมือน (Virtualized network addressing space) ภายใน หรือ ระหว่าง subnet โดยการแบ่งแยกระบบ LAN ออกเป็นหลายระบบแยกจากกันโดยเด็ดขาด เพิ่มความปลอดภัยให้กับระบบและการส่งข้อมูลไม่รบกวนกัน
- Channel bonding เป็นการใช้ link หลายๆ link รวมกันเพื่อทำงานเสมือนว่ามี link เดียว แต่มี bandwidth สูงกว่า
- Memory virtualization คือเทคนิคในการรวบรวมทรัพยากร RAM จากระบบต่างๆ ในเครือข่าย เพื่อสร้าง Virtualized memory pool
- Resource virtualization (Computer clusters, Grid computing, และ Cloud computing) เป็นการเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่กระจัดกระจายกัน หรือ แยกจากกันเป็นอิสระ เข้าด้วยกันในลักษณะของ Meta-computer ขนาดใหญ่ เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
- Application virtualization เป็นกระบวนการในการนำ Application ไปติดตั้งและใช้งานบน Hardware/Software อื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ หรือ ทำงานของ Application นั้นๆ
- Desktop virtualization เป็นการทำงานบนหน้าจอเสมือน โดยไม่ได้ใช้งานระบบ ณ เครื่องที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ แต่เป็นการสร้าง desktop จากเครื่องที่ประมวลผลในอีกสถานที่ที่ไกลออกไป

ข้อดีของ Virtualization
1. ลดปริมาณการใช้เครื่องแม่ข่าย รวมถึงค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่จัดเก็บและการดูแลรักษาได้มาก เนื่องจากแท้ที่จริงแล้ว เซิร์ฟเวอร์แต่ละเครื่องยังไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มที่ ทำให้สูญเสียทรัพยากรไปอย่างเปล่าประโยชน์
2. ประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงานที่ลดลง เนื่องจากการการใช้ทรัพยากรที่เทียบเท่าการใช้เครื่องแม่ข่ายหลายเครื่อง ในเครื่องแม่ข่ายเพียงหนึ่ง ซึ่งเท่ากับการใช้พลังงานและพื้นที่สำหรับหนึ่งเครื่องเท่านั้น เป็นการสนับสนุน Green IT อย่างแท้จริง
3. สามารถเลือกใช้ระบบปฏิบัติการได้หลากหลาย
4. การทำ Migration เพื่อย้ายการทำงานของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ไปยังอีกเครื่องได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลด Downtime จากเวลาที่ใช้ในการติดตั้งใหม่ และแก้ปัญหาความไม่เข้ากันของฮาร์ดแวร์ได้ และช่วยให้สามารถทำการเปลี่ยนย้ายแอพพลิเคชั่นเก่าและระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นที่มีอยู่เดิมไปยังพาร์ทิชั่นแบบเสมือนได้โดยไม่ต้องทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆเป็นการยืดอายุการใช้งานแอพพลิเคชั่นเก่าโดยมีค่าใช้จ่ายไม่มากและมีความเสี่ยงน้อย
5. ประยุกต์ใช้เป็นระบบ Virtual desktop สำหรับพนักงานในองค์กร แทนที่เครื่องสำนักงานด้วย virtual machine อำนวยความสะดวกและปลอดภัยในการดูแลข้อมูลขององค์กร
6. ประยุกต์ใช้เพื่อทดสอบแอพพลิเคชั่นในหลายๆ สภาพแวดล้อมการทำงาน โดยใช้ Virtual Machine เพื่อจำลองสภาพแวดล้อมงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Windows หรือ Linux
7. ความผิดพลาดของซอฟท์แวร์และการโจมตีในรูปแบบดิจิตอลจะถูกแยกออกจากกันสำหรับแต่ละพาร์ทิชั่นเสมือน และพาร์ทิชั่นสำรองสำหรับความผิดพลาดสามารถสร้างขึ้นใช้งานได้ตามความต้องการอย่างง่ายดายและประหยัดค่าใช้จ่าย
8. ระบบแบบเสมือนสามารถจัดเตรียมเพื่อรองรับหรือปรับขนาดได้ภายในไม่กี่นาทีเพื่อรองรับแอพพลิเคชั่นใหม่, ภาระงานที่เพิ่มขึ้น และการบำรุงรักษาระบบ ทำให้เกิดความคล่องตัว
9. แก้ไขปัญหาความร้อนจากการทำงานของเครื่องหลายเครื่อง ซึ่งทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายในการใช้ระบบถ่ายเทความร้อน และยังประหยัดพลังงานได้อีกทอด
ข้อเสียของ Virtualization
1. มีความจำเป็นที่ต้องเสียทรัพยากรบางส่วนของระบบให้เทคโนโลยีเสมือน เป็นการสิ้นเปลืองที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่นการเสีย Speed ของเครื่องไปจากการแบ่งพื้นที่ในการประมวลผลสำหรับระบบปฏิบัติการพื้นฐานของเครื่อง และระบบปฏิบัติการที่เราต้องการเวอร์ช่วลไลซ์ องค์กรจึงต้องลงทุนเพิ่มตัวประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อมารองรับการแชร์ทรัพยากรอยู่ดี
2. ยังไม่รองรับหรือสนับสนุนอุปกรณ์ที่มีอยู่ในท้องตลาดทั้งหมด ต้องผ่านการตรวจสอบความเข้ากันได้จากบริษัทผู้ให้บริการก่อน
3. เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังมีคนรู้จักและใช้งานได้ไม่มาก จึงอาจเกิดปัญหาในการใช้งานและการซ่อมแซม ที่ต้องพึ่งพาต่างชาติเป็นส่วนใหญ่
4. ราคาของระบบลิขสิทธิ์และราคาของ Application ที่ใช้งานกับระบบยังค่อนข้างสูง

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Virtualization ในธุรกิจ
  • ·   Server Consolidation
      การทำ Server consolidation หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งคือการรวมเอา Server ที่มีอยู่ทั้งหมดเข้ามาอยู่กลายเป็น Server ขนาดใหญ่ยักษ์เพียงตัวเดียว แทนที่จะปล่อยแต่ละ Server แยกกันอยู่ และเป็นเพียง Server เล็กๆ อยู่อย่างนั้น การนำเทคโนโลยี Virtualization มาช่วยรวม Server เข้าด้วยกันทำให้มีการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกันและค่าใช้จ่ายลดลง เนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆ เป็นการแชร์ Resource ร่วมกัน และนอกจากนี้ยังทำให้มีความซับซ้อนน้อยลง รวมไปถึงสามารถดูข้อมูลและบริหารจัดการ Server ทั้งหมดได้ในหน้าจอเดียวกันอีกด้วย
  • ·   Disaster Recovery
เทคโนโลยี Virtualization สามารถใช้สร้างสภาพแวดล้อม "hot standby" บน Server ได้ด้วย และด้วยความสามารถนี้เองได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการทำสำรองข้อมูลและการกู้คืนข้อมูล เพราะว่าการทำ backup และ restore สามารถทำได้บน virtual ได้ทันที ลด workload ของเซิร์ฟเวอร์เมื่อทำการแบ็คอัปแต่ละครั้งได้เป็นอย่างดี
  •      Portable Applications
      ทุกวันนี้เราสามารถทำการ Install Application ที่ต้องการได้ทันทีโดยอาศัยเพียงอุปกรณ์พกพาจำพวก Removable Drive โดยการ Install Application นั้นๆ ลงบน disk drive ซึ่งความสามารถนี้ก็แพร่ขยายและได้รับความนิยมเช่นกันสำหรับการทำ Virtualization เพราะองค์กรสามารถทำการติดตั้ง Application บน Layer ที่เป็น Temporary files ได้ โดยที่ไม่ต้องทำการติดตั้งหรือรัน Application แบบ permanent file system การทำเช่นนี้ช่วยให้ความสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน Application ได้ยิ่งขึ้น พอๆ กับการเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าด้วย แทนที่จะสูญเสียพื้นที่สำคัญบางอย่างไปเพื่อเก็บไฟล์นั้นๆ อย่างไม่จำเป็น
  • ·   Portable Workspaces
เทคโนโลยี virtualization เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าที่ช่วยให้ผู้คนสามารถใช้งานอุปกรณ์พกพาไปไหนต่อไหนได้สะดวกยิ่งขึ้น และอุปกรณ์ดังกล่าวนี้เองได้กลายเป็นตัวกลางสำคัญที่ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึง Application เพื่อการทำงานบางอย่างด้วย ที่เห็นเด่นชัดมากที่สุดก็คือ iPods และการ์ดหน่วยความจำแบบพกพา หรือ USB memory sticks ตัวอย่างการใช้งานเช่น การที่หน่วยงานหนึ่งให้พนักงานถืออุปกรณ์พกพาเหล่านี้ทำการรัน Application ที่จำเป็น ณ ที่ที่ใช้งาน หรือ ณ เครื่องคอมพิวเตอร์ใดก็ได้ และทำการ log in เข้าระบบกลางของสำนักงานของตน และใช้เพื่อเข้าถึงข้อมูลเพื่อการทำงานอื่นๆ ได้ด้วย เป็นต้น

แนวโน้มการใช้เทคโนโลยี Virtualization ในอนาคต
รูปที่ 1 โครงสร้างการทำงานของเทคโนโลยีแบบเสมือนของระบบคอมพิวเตอร์บริการแม่ข่ายขนาดใหญ่
จากรูปที่ 1 เป็นแนวโน้มของการติดตั้งใช้งานทรัพยากรในอนาคตโดยมีข้อพิจารณาการใช้งานของเครื่องบริการแม่ข่ายขนาดใหญ่ในการติดตั้งให้มีการทำงานแบบเสมือนควรพิจารณาความสามารถในการบริการดังนี้
1. ความสะดวกในการสร้างอิมเมจของระบบปฏิบัติการแบบเสมือนและโปรแกรมประยุกต์ที่จะทำการประมวลผลบนทรัพยากรเครื่องบริการแม่ข่ายขนาดใหญ่ รวมถึงความยืดหยุ่นในการตั้งค่าพารามิเตอร์ต่างๆ
2. ความสามารถในการจัดสรรทรัพยากร ตัวประมวลผล หน่วยความจำ และเส้นทางข้อมูล ในส่วนของตัวประมวลผลว่าสามารถจัดสรรได้ในระดับภาระงานของแกนตัวประมวลผล ระดับตัวประมวลผล หรือระดับแผ่นวงจรหลักของการทำงาน ในส่วนของหน่วยความจำ และเส้นทางข้อมูลเป็นการจัดสรรขนาดของหน่วยความจำให้กับพาร์ทิชันต่างๆ
3. ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรทรัพยากรในขณะทำงานต่อเนื่อง เช่น ตัวประมวลผล หน่วยความจำ ซึ่งพิจารณาว่าสามารถทำการเพิ่มหรือลดทรัพยากรโดยไม่กระทบการบริการปกติ หรือต้องการการรีสตาร์ทเฉพาะพาร์ทิชัน โดยบางกรณีต้องการการรีสตาร์ททั้งระบบ หรือต้องตั้งค่าคอนฟิกใหม่ทั้งระบบ
4. ความสามารถในการเคลื่อนย้ายอพยพการทำงานของพาร์ทิชันหนึ่งในทรัพยากรประมวลผลจากส่วนหนึ่งไปยังอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งพิจารณาถึงประสิทธิภาพการบริการว่ามีการขัดจังหวะ หรือลดลงหรือไม่ รวมถึงเวลาที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายการทำงานและผลกระทบกับพาร์ทิชันอื่น
5. ระบบบริหารจัดการของระบบเสมือน ที่มีความซับซ้อนต่ำ และมีความยืดหยุ่นในการจัดสรร ติดตั้งดูแลระบบ
6. ความสามารถในการจำกัดความเสียหายและล้มเหลวของการทำงานของระบบซอฟต์แวร์ในพาร์ทิชันหนึ่งไปยังพาร์ทิชันอื่น ซึ่งคุณลักษณะนี้รองรับทั่วไปในการทำงานของระบบเสมือน
7. ความสามารถในการจำกัดความเสียหายที่เกิดจากการเสียหายของระบบฮาร์ดแวร์ รวมถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนคอนฟิกูเรชันในการทำงานเมื่อเกิดความเสียหายเพื่อให้สามารถทำงานได้ต่อเนื่องถึงแม้จะต้องลดประสิทธิภาพในการบริการลง
8. ความสามารถในการจัดแบ่งทรัพยากร โดยคำนึงถึงการรักษาความปลอดภัยข้อมูลเป็นหลัก โดยมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนทั้งทางด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ไม่ให้ก้าวก่ายกันทางข้อมูล
9. รองรับการทำงานหลากหลายระบบปฏิบัติการ
10. มีการคำนึงถึงการรักษาความปลอดภัยโดยรวมของระบบในการใช้งานแบบเสมือน
      โดยข้อพิจารณาทั้งสิบข้อขั้นต้น เป็นสิ่งสำคัญในการออกแบบเลือกใช้งานระบบบริการแม่ข่ายขนาดใหญ่ที่ต้องการรวมการใช้ทรัพยากรเข้าด้วยกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายของฮาร์ดแวร์ เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานระบบ สามารถเปลี่ยนแปลงการใช้งานทรัพยากรตามภาระงานที่เปลี่ยน และเพิ่มคุณภาพ การบริการให้สูงขึ้นจากความง่ายของการบำรุงรักษาดูแลระบบ ในอนาคตการใช้งานเครื่องบริการแม่ข่ายมีแนวโน้มชัดเจนว่าจะรวมกันเป็นระบบเดียว และบริการโดยการส่งอิมเมจของพาร์ทิชันในลักษณะต่างๆ เข้าไปประมวลผลในทรัพยากรกลาง

Slide :  Download


น.ส.จิราพร พรพัฒนกุลฑล 5202112743
น.ส.วศินี   ตั้งทองหยก     5202113022
น.ส.ธัญพร เหลืองสุรงค์    5202115035

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น