Video Telepresence
เทเลพรีเซ็นส์ คือ เทคโนโลยีที่พัฒนามาจากระบบวิดีโอคอนเฟอเร็นซ์ที่ได้มีการพัฒนาขึ้นในปีค.ศ.1960 และเริ่มใช้งานจริงในปีค.ศ.1980 ซึ่งโดยหลักการแล้ว เทเลพรีเซ็นส์ใช้เทคโนโลยีพื้นฐานเดียวกับวิดีโอคอนเฟอเร็นซ์ แต่มีความต่างขององค์ประกอบของระบบที่ชัดเจน 3 ด้าน คือ network technologies, conference hardware, conference software ซึ่งเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ากว่าทำให้เทเลพรีเซ็นส์ให้ภาพที่สมจริงกว่า อรรถประโยชน์ที่สูงกว่า และการติดตั้งต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมการใช้งานที่เหนือกว่าวิดีโอคอนเฟอเร็นซ์
ระบบเทเลพรีเซ็นส์มีส่วนประกอบขั้นต่ำ คือ โคเดค (Codec - ชิปแปลงข้อมูล) อุปกรณ์บีบขยายสัญญาณ กล้อง จอภาพ และเทเลพรีเซ็นส์ยูสเซอร์อินเทอร์เฟซ หรือ “เอ็นจิน” ซึ่งมีจำนวนจอขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละองค์กร
ห้องประชุมเทเลพรีเซ็นส์ มักจะประกอบไปด้วยโต๊ะประชุมวางที่วางประกบกับจอภาพขนาดใหญ่ ทำหน้าที่แสดงภาพในแนวโค้งโอบล้อม เพื่อให้สายตาของผู้เข้าประชุมมองเห็นผู้นั่งฝั่งตรงข้ามเสมือนอยู่ในห้องเดียวกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้รู้สึกคล้ายประชุมแบบตัวต่อตัวจริงๆ
อาจกล่าวได้ว่า เทเลพรีเซ็นส์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดประชุม เชื่อมโยงสานสัมพันธ์ และทำงานร่วมกันเป็นทีมโดยไม่ต้องนั่งเครื่องบินมาพบกัน ซึ่งเป็นความสะดวกสบายที่ไม่เสียประสบการณ์อันใกล้ชิดไป
เทเลพรีเซ็นส์ให้ประสบการณ์เสมือนจริง
ในการสร้างให้มีภาพที่เสมือนจริงนั้น ระบบเทเลพรีเซ็นส์จำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีหลากหลายประเภทเข้าด้วยกัน การออกแบบตกแต่งภายในห้อง และการจัดการดูแลที่ดี ซึ่ง “การเพิ่มมูลค่า” ของเทคโนโลยีนี้นั้นเกิดขึ้นจากองค์ประกอบหลักๆ ดังต่อไปนี้
§ ระบบภาพและเสียงคุณภาพสูง: ในการสร้างบรรยากาศเสมือนจริงนั้น ระบบเสียงจำเป็นที่จะต้องคมชัด ไม่ echo และมีระดับเสียงที่พอเหมาะ ทิศทางของเสียงนั้นก็ควรที่จะติดตั้งให้เสมือนว่ามาจากผู้เข้าร่วมประชุมที่นั่งอยู่ในทิศทางต่างๆจริงๆ ระบบภาพนั้นก็จะต้องคมชัด มีขนาดเสมือนจริง และไม่ dalay ดังนั้น ขนาดของหน้าจอ ระยะห่างระหว่างจอ กล้อง และเก้าอี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
§ ความไม่สลับซับซ้อน: เพื่อความง่ายในการใช้งาน ผู้ให้บริการ เช่น Cisco จึงออกแบบให้ใช้งานระบบนี้ง่ายด้วยการกดเพียงปุ่มเดียว และจะมีแผนกพนักงานหรือระบบที่จะช่วยในเรื่องของการเชื่อมต่อให้ ทำให้หลังการติดตั้งระบบเรียบร้อยแล้วผู้ใช้บริการไม่ต้องติดตั้งหรือปรับเปลี่ยนตัวระบบเลย จึงง่ายต่อการใช้งาน
§ ความน่าเชื่อถือสูง: ในประเด็นนี้ ผู้ให้บริการจะมีการตรวจสอบระบบอยู่เสมอเพื่อให้การให้บริการมีความสม่ำเสมอและมีความน่าเชื่อถือ
§ สภาพแวดล้อมที่ยอดเยี่ยม: ในการจำลองสภาพแวดล้อมที่เสมือนจริงและสมเหตุสมผลนั้น จะต้องควบคุมทั้งเรื่องของเฟอร์นิเจอร์ แสง หรือกระทั่งสีผนังและวัสดุต่างๆ ให้ทุกที่เหมือนกันทุกประการเหมือนห้องๆเดียวกัน และดูแล้วเป็นหนึ่งเดียวกันกับภาพในจอ นอกจากนั้น อุปกรณ์ต่างๆ เช่น ไมโครโฟน, ลำโพง, กล้อง ฯลฯ ยังถูกซ่อนเอาไว้เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าอยู่ในห้องประชุมทางไกลอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การที่จะได้มาซึ่งคุณภาพทั้งหลายเหล่านี้ มีต้นทุนที่สูงมากเป็นเงินจำนวน 100,000 ถึง 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการสร้างห้องที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษาระบบที่เกิดขึ้นทุกๆเดือน เป็นจำนวนเงินตั้งแต่ไม่กี่พันดอลลาร์สหรัฐจนถึงมากกว่า 18,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของบริการ และขนาดแบนด์วิดธ์เครือข่ายที่เช่า
และเนื่องจากการวางระบบภาพนั้น กล้องจะต้องหันในมุมที่ให้ขนาดเสมือนจริง และให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมรู้สึกว่ามองหน้าคู่สนทนาอยู่จริง ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมจะต้องนั่งในมุมที่ได้จัดไว้อย่างถูกต้อง และมีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนของผู้เข้าร่วมประชุมอีกด้วย ทำให้เทเลพรีเซ็นส์นั้นมีความเป็น “สตูดิโอ” มากกว่าแค่ “ห้องประชุม”
ส่วนประกอบขั้นพื้นฐาน
- กล้องความละเอียดสูง 720p และ 1080p และเทคโนโลยีการเข้ารหัส/ถอดรหัส
- ตัวถอดรหัสวีดีโอ H.264 เพื่อให้ได้คุณภาพสูงที่สุดและอัตราบิตเรทที่ต่ำที่สุด
- โปรโตคอลการเริ่มต้นเซสชัน
- การเข้ารหัสข้อมูลสัญญาณเสียงขั้นสูงแบบแถบกว้าง (Wideband advanced audio coding with low delay - AAC LD)
- ระบบเสียงพิเศษหลายช่องทางพร้อมการตัดเสียงสะท้อนและอุปกรณ์กรองสัญญาณรบกวน
- การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสำหรับการรับฟังภาพ เสียง และประสบการณ์การใช้งานที่ดีสุด
- การเข้ารหัสมีเดียและการส่งสัญญาณสมบูรณ์แบบที่ไม่มีเวลาหน่วง
- การบันทึกวีดีโอความละเอียดสูงสำหรับข้อความคุณภาพสูง
- การประสานการทำงานระหว่างระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ H.323 และอุปกรณ์ปลายทางอื่นๆ ทั้งแบบความละเอียดปกติและความละเอียดสูง
การประยุกต์ใช้ระบบเทเลพรีเซ็นส์ในปัจจุบัน
1.การประยุกต์ในด้านการประกอบธุรกิจ
ปัจจุบันในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา มีบริษัทให้บริการเช่าห้องระบบเทเลพรีเซ็นส์เพื่อการประชุมทางไกล ซึ่งบริษัทรายใหญ่ที่ให้บริการระบบนี้ในตลาด ได้แก่ Cisco, HP, Polycom และ Tandberg โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางของพนักงานและผู้บริหารที่สูง ดังนั้น บริการนี้จึงเน้นตอบสนองด้านการลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของพนักงานในองค์กร ช่วยให้ผู้บริหารไม่ต้องเสียเวลาในการบินข้ามประเทศไปมาในการตัดสินใจเชิงธุรกิจ ทำให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วหากมีเรื่องด่วนที่ต้องอาศัยการตัดสินใจระหว่างผู้บริหารระดับสูงหลายคนซึ่งประจำอยู่ในหลายภูมิภาค ทั้งนี้อุตสาหกรรมการให้บริการระบบเทเลพรีเซ็นส์มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี ค.ศ.2008 มีมูลค่าตลาดสูงถึง 350 ล้านดอลลาร์
ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าระบบเทเลพรีเซ็นส์ยังไม่แพร่หลายในวงกว้าง แต่บริษัทข้ามชาติหลายบริษัทก็มีห้องเทเลพรีเซ็นส์เป็นของตัวเองแล้ว เช่น Bank of America Corp., PepsiCo Inc. , Procter & Gamble Co. ซึ่งกรณี P&G นั้น ผู้บริหารของ P&G ได้เปิดเผยว่าบริษัทมีระบบซิสโก้เทเลพรีเซ็นส์ประมาณ 70 ห้องทั่วโลก และบริษัทได้ประมาณว่าทุกการลงทุน 1 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับระบบเทเลพรีเซ็นส์ จะช่วยให้ประหยัดค่าเดินทางและเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ถึง 4 ดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
2.การประยุกต์ในด้านการศึกษา
มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาขั้นสูงในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการนำระบบเทเลพรีเซ็นส์มาใช้เพื่อความก้าวหน้าทางการศึกษา เพิ่มระดับความร่วมมือและความสะดวกในการเข้าถึงการศึกษาระหว่างผู้เรียนและผู้สอน
3.การประยุกต์ในด้านการแพทย์
ระบบเทเลพรีเซ็นส์ ถูกนำไปใช้ในเพื่อประสิทธิภาพในการแพทย์ โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(The International Telecommunication Union) ได้จัดตั้ง “telemedicine project” ในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น ประเทศโมซัมบิก ประเทศซีเนกัล ประเทศจอร์เจีย ฯลฯ โดยใช้ระบบเทเลพรีเซ็นส์เพื่อการติดต่อสื่อสารด้านการแพทย์ระหว่างเมืองเล็กๆกับเมืองใหญ่ที่มีเทคโนโลยีด้านการแพทย์และทีมแพทย์ที่ดีกว่า
ประเทศไทยกับระบบเทเลพรีเซ็นส์
การใช้งานส่วนใหญ่จะพบในบริษัทในเครือบริษัทข้ามชาติ เช่น P&G ฯลฯ สำหรับบริษัทสัญชาติไทย มีบริษัทปตท.เป็นบริษัทที่ริเริ่มโครงการด้านระบบเทเลพรีเซ็นส์อย่างจริงจัง โดยร่วมมือกับ MFEC ในการพัฒนาและติดตั้งระบบเทเลพรีเซ็นส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน นอกจากนี้ ที่เห็นในข่าวบ่อยครั้งในช่วงหลังๆ ก็คือ นักการเมืองระดับสูงของไทยที่เดินทางไปประชุมต่างประเทศ แล้วใช้บริการระบบเทเลพรีเซ็นส์เพื่อรายงานผลสรุปการประชุมแบบรวดเร็วทันใจกลับมายังประเทศไทย
งานวิจัยของบริษัทซิสโก้เกี่ยวกับระบบเทเลพรีเซ็นส์ ชื่อ “More Than Travel Savings”
ซิสโก้เป็นบริษัทให้บริการห้องประชุมระบบเทเลพรีเซ็นส์รายใหญ่ในตลาด ซึ่งให้บริการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีค.ศ.2006 ซึ่งในช่วงเวลา 1 ปี บริษัทได้ให้บริการห้องประชุมทางไกลผ่านระบบเทเลพรีเซ็นส์มากถึง 31,381 ครั้ง ซึ่งประมาณการต้นทุนที่ลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางได้ถึง 52.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 15,561 ตัน ซึ่งคิดเทียบเท่ากับการลดการใช้รถบนถนน 3,364 คัน นอกจากนี้ ซิสโก้ยังพบว่าระบบเทเลพรีเซ็นส์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานแต่ละหน่วยงานและการสื่อสารระหว่างกัน ทำให้ส่งผลต่อยอดขายที่เพิ่มขึ้นด้วย
อนาคตของเทคโนโลยีเทเลพรีเซ็นส์
เทเลพรีเซ็นส์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและแพร่หลายกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ซึ่งระบบนี้ไม่เพียงแต่จะลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางเท่านั้น แต่ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในองค์กรและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานด้านต่างๆอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ในอนาคตระบบเทเลพรีเซ็นส์น่าจะกลายเป็น next generation ของรูปแบบการสื่อสาร ได้อย่างไม่ยากเย็น
บรรณานุกรม
Telepresence. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://en.wikipedia.org/wiki/Telepresence. (วันที่ค้นข้อมูล : 8 มกราคม
2554).
International Telecommunication Union. (2007, November). Telepresence : High-Performance Video-
Conferencing. ITU-T Technology Watch Report 2.
Andrew W. Davis and E. Brent Kelly. (2008, 28 January) Telepresence vs Videoconferencing : Resolving the
cost/benefit conundrum. Wainhouse Research. Revision 9.
powerpoint link http://www.4shared.com/file/wlAdK-2H/Video_Telepresence.html
โดย พัชรรัสมิ์ สิทธิชัยนาม 5302110050 และ นภัสวรรณ อัจยุตโภคิน 5302110068
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น